top of page
Search

"สุข หรือ ทุกข์"

  • ศิลป์ลภาวลัย สุขนิตย์
  • Nov 22, 2017
  • 1 min read




มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสมองและจิตใจ เราจึงมีความคิดและอารมณ์เป็นตัวกำหนดความสุขและความทุกข์ของชีวิต แต่ละคนเกิดและเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้มีสภาพจิตใจที่ต่างกันไป จิตใจของมนุษย์นั้นเปรียบได้กับเหรียญที่มีสองด้าน บางครั้งก็แข็งแกร่งประดุจดั่งเพชร ในขณะเดียวกันก็เปราะบางดังเปลือกไข่ ความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับจิตใจนั้นอาจมีเบื้องหลังมาจากโรคบางชนิด ซึ่งมีชื่อในทางการแพทย์ว่า "โรคซึมเศร้า" ที่มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ สารเคมีในสมอง หรือลักษณะนิสัย ส่งผลให้เกิดอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถกระทบจิตใจได้อย่างง่ายดาย ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ความร้ายแรงของโรคนี้คือ สามารถทำให้บางคนจบชีวิตตนเองลงในที่สุด จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคชนิดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเห็นได้จากข่าวและสื่อต่าง ๆ นั่นจึงกลายเป็นประเด็นที่ชวนขบคิด และเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะของ ปราชญ์น้ำเพชร กนกนาค นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ที่มักจะทำงานในรูปแบบศิลปะสื่อผสม (Mixed Media Art) ในผลงานที่ชื่อว่า “ช่วงเวลาแห่งความสุขเล็ก ๆ” เป็นผลงานสื่อผสมที่ใช้เทคนิคการจัดวางภาพถ่าย ฟิล์มภาพ และซองขนม

มีขนาดแปรผันตามพื้นที่ ที่จัดแสดงภายใต้นิทรรศการที่มีชื่อว่า “Human Reflection” ผลงานชิ้นนี้มีที่มาจากการต่อสู้กับสภาพจิตใจของศิลปินเมื่อต้องเผชิญกับสภาวะโรคซึมเศร้า การพยายามเก็บรวบรวมความทรงจำที่ทำให้มีความสุข จึงอาจเป็นวิธีการเยียวยาสภาพจิตใจของตนเองในทางหนึ่ง โดยผ่านภาพถ่ายบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวศิลปิน และวัสดุที่สะท้อนเรื่องราวแห่งความสุขในชีวิต เช่น ซองขนม หรือฟิล์มภาพ





ภาพถ่ายขนาดเท่าโปสการ์ดที่แสดงภาพบุคคล สัตว์ สถานที่ อาหาร และอื่น ๆ (ภาพที่1-2)

ถูกจัดวางไว้เป็นกลุ่ม ๆ เป็นแนวยาวจากฝาผนังด้านหนึ่งไปจนถึงปลายสุดของฝาผนังอีกด้าน

ซึ่งบนผนังถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยผ้าเทปสีเทา ที่ทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งอาณาเขตอยู่ตรงกลางฝาผนัง

ครึ่งบนจะเป็นกลุ่มภาพถ่ายขาวดำและค่อย ๆ ไล่เรียงไปจนเป็นกลุ่มของภาพสีตามแนวยาวของผนัง

ภาพถ่ายเหล่านั้นถูกจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งสูงต่ำที่ต่างกัน คล้ายกับจุดภาพ หรือพิกเซล(Pixel)

จำนวนหนึ่งเต็มผนัง ส่วนครึ่งล่างของผนังเป็นฟิล์มภาพและซองขนม โดยมีเส้นลูกศรที่เกิดจากการใช้

สีวาดขึ้น และเส้นเชือก เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มภาพถ่ายส่วนบน และกลุ่มฟิล์มภาพ หรือซองขนมในส่วนล่าง




ภาพถ่ายขนาดเล็กที่บรรจุไปด้วยเรื่อง

ราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นภาพบุคคลที่แสดงออกถึงความรู้สึกและกิริยาท่าทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะยิ้ม เหม่อลอย หรือกำลังทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมไปถึงภาพสุนัขในหลายมุมมอง นอกจากนั้นยังมีภาพอาหาร และสถานที่ต่าง ๆ ภาพเหล่านี้มีลักษณะการจัดวางที่คล้ายกับจุดภาพ (Pixel) เมื่อมาเรียงต่อกันหลาย ๆ ภาพจึงเปรียบเสมือนหน้าจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่กำลังฉายภาพเหตุการณ์ต่างๆ

และการจัดวางกลุ่มภาพให้มีลักษณะสูงต่ำที่ต่างกันนั้น เปรียบเสมือนเส้นกราฟที่บ่งบอกสภาวะทางอารมณ์ของตัวศิลปินในแต่ละช่วง หากกราฟดิ่งลงภาพจะเป็นสีขาวดำ แต่หากกราฟพุ่งขึ้นภาพถ่ายจะกลายเป็นภาพสี ส่วนผ้าเทปสีเทา คือ สัญลักษณ์ของเส้นแบ่งอาณาเขตแห่งความทรงจำ กล่าวคือ ภาพถ่ายซึ่งอยู่ครึ่งบนของผนังนั้นเป็นตัวแทนของภาพความทรงจำที่มีรูปร่างที่ชัดเจน และฟิล์มภาพในส่วนล่างคือตัวแทนของความทรงจำในส่วนลึกที่ถูกเก็บไว้มากมาย และเส้นลูกศรที่วาดด้วยมือคือตัวแทนของการพยายามเชื่อมโยง ฉะนั้นการที่ลูกศรชี้จากฟิล์มภาพขึ้นไปหาภาพถ่าย จึงหมายถึงการที่ศิลปินพยายามดึงเอาภาพความทรงจำที่ซ่อนลึกอยู่ภายในออกมาให้เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนนั่นคือภาพเหตุการณ์ในส่วนบนของฝาผนัง ส่วนซองขนมซึ่งมีการเย็บด้วยเส้นเชือกในลักษณะของการย้ำในจุดเดิม ๆ นั้นสื่อถึงการตอกย้ำกับตนเองว่าซองขนมก็เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาพแห่งความสุขภาพถ่ายและวัสดุเหล่านั้นอาจเป็นความทรงจำที่ช่วยดึงความรู้สึกที่เคยเป็นสุขออกมาปรากฏท่ามกลางสภาวะอารมณ์ที่เศร้าและหดหู่ในปัจจุบัน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจจากภาพแห่งความสุข แต่การนึกถึงภาพแห่งความสุขจะสามารถช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของคนเราได้หรือไม่นั้น

คงไม่สามารถตอบได้ เพราะความรู้สึกของมนุษย์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ในสภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าคนทั่วไป ฉะนั้นถึงแม้ว่าบางคนจะหลีกเลี่ยงสภาวะซึมเศร้าไม่ได้ แต่เขาก็มีวิธีการรับมือกับความทุกข์ในแบบฉบับของตนเอง เราทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตที่เป็นทุกข์เพียงใด หากเรารู้จักเลือกมองในแง่มุมที่ดีที่ซ่อนอยู่ภายในตนเอง ความสุขก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แม้เป็นเพียงความสุขแค่เสี้ยวเล็ก ๆ ก็ตาม

 
 
 

Comentários


Art criticism

bottom of page