THE SIMILARITY OF DIVERSITY
- ฐพงค์ ศรีใส
- Nov 22, 2017
- 1 min read

การเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ดีและไม่ดีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และมนุษย์มักนำไปใช้กับประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น พฤติกรรมของคนแต่ละพื้นถิ่น ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
สภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ความสะดวกสบาย หรือแม้แต่ความสามารถของมนุษย์ด้วยกันเอง
การประกอบสร้างวัฒนธรรม ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานของแต่ละพื้นที่ คือสิ่งที่หล่อหลอมคนในสังคมนั้น ด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ทำให้การดำเนินชีวิตของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน
หากแต่ในปัจจุบันความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นยังคงมีเหลือมากพอจะทำให้เราได้เห็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่นั้น ๆ จริงหรือ เมื่อโลกเทคโนโลยีได้เชื่อมมนุษย์ให้เข้าหากัน ทำให้คนเราสามารถสอดส่องโลกไป
ได้พร้อมกัน
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “Interactive Art : The Relationship of Human and Technology” เป็นผลลัพธ์ของโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างนักศึกษา คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักศึกษาภาควิชา Design Media Arts สร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าทางศิลปะ
สะท้อนแง่มุมของศิลปิน โดยการร่วมมือกันระหว่างศิลปินทั้งสามคน ได้แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองทางความคิด และประสบการณ์ของสองวัฒนธรรมต่างซีกโลก ผลงานได้เล่นกับการรับรู้ของมนุษย์ใน
โลกความเป็นจริง และโลกเสมือน เมื่อผลงานเชื้อเชิญผู้ชมให้เข้ามามีส่วนร่วมได้เผยให้เห็นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่
นั่นคือโลกเสมือนที่สะท้อนความเป็นไปของสังคม กระบวนการในการปฏิสัมพันธ์ของคนดูนั้นยิ่งตอกย้ำเรื่อง
พฤติกรรมของมนุษย์ ที่แม้ว่าจะต่างวัฒนธรรมต่างภาษากัน แต่การกระทำและสัญชาตญาณของมนุษย์นั้นก็ยังคงเหมือนกัน
ศิลปินได้สร้างโลกเสมือนผ่านการรับรู้ของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งวิธีการที่ผู้ชมสามารถเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับผลงานได้จำเป็นจะต้องสวมใส่ VR Viewer หรืออุปกรณ์ในการมองภาพจำลองสามมิติ เมื่อผู้ชมก้มหน้าลงจะเห็นภาพดอกไม้ที่กำลังลอยขึ้นมา และเมื่อผู้ชมเงยขึ้นก็จะมองเห็นภาพดอกไม้ที่กำลังร่วงหล่นลงมาเหมือนเป็นภาพสะท้อนกลับด้านนั่นเอง ดอกไม้ที่ปรากฏอยู่ในภาพเสมือนเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกัน แต่มีสีที่แตกต่างกัน
ซึ่งบรรยากาศที่ผู้ชมเห็นนั้นจะเป็นเหมือนมิติสีดำมืดไม่สามารถบอกได้ว่าสถานที่นั้นคือที่ใด การสร้างโลกเสมือนขึ้นมาได้เปิดเผยให้เห็นความเป็นจริงมากกว่าสิ่งที่สมมติขึ้นตามทัศนคติของศิลปิน เนื่องจากกระบวนการของผลงานได้สร้างสภาวะของการเปิดเผยให้เห็นถึงบางสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้กายภาพของสิ่งที่เห็น
หรืออาจเรียกได้ว่าความเคยชิน
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม ได้ส่งผลให้พฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นได้เชื่อมโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน จากการร่วมงานระหว่างสองประเทศ คือ Kristine ศิลปินชาวอเมริกันที่สนใจศิลปะสื่อการ แสดงสด กับนักศึกษาศิลปะชาวไทยสองคน คือ ภานริทร์ และวิธวินท์ ช่วยให้เกิดข้อถกเถียงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นของสังคมที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าความแตกต่างย่อมชัดเจนในเรื่องของวิถีชีวิต หรือการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น สภาพอากาศ วัฒนธรรม ศาสนาและศีลธรรม แต่สิ่งที่ผลงานกำลังนำเสนอนั้นคือสิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือมนุษย์ต้องการปัจจัยพื้นฐานเหมือนกัน การกระทำและการแสดงออกเพื่อสื่อสารนั้นก็ไม่ต่างกัน อาจมีเพียงแค่ตัวอักษร และวิธีการออกเสียงที่จะมีเอกลักษณ์ตามแต่ละท้องถิ่น สิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนปรากฏให้เห็นหลังจากที่ผู้ชมได้สวม VR Viewer นั่นคือภาพจำลองของดอกไม้ ไม่ว่าเราจะมองสูงขึ้น หรือมองต่ำลง สุดท้ายแล้วภาพที่ปรากฏต่อสายตาก็ยังคงเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกัน เช่นเดียวกับพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ในสองซีกโลกที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน
การนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการถ่ายโอนวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจนในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยทำให้โลกทั้งใบแคบลงได้ ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลของประเทศอื่นได้อย่างง่ายดาย ทั้งการติดตามข่าวสาร การเข้าถึงชุดความรู้ต่าง ๆ อีกทั้งเทคโนโลยียังทำให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้นอีกด้วย จะสังเกตได้ว่า เสื้อผ้าที่สวมใส่ ยานพาหนะ หรือแม้แต่ภาษาที่มีการแผลงมาจากหลากหลายภาษา เป็นการได้รับอิทธิพลจากสื่อที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น และผลกระทบของเทคโนโลยีนั้นทำให้ขอบเขตของความแตกต่างนั้นค่อย ๆ เลือนหายไป และสิ่งที่เข้ามาแทนที่คือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของโลก เนื่องจากโลกในปัจจุบันถูกเชื่อมโยงร้อยรัดเป็นก้อนเดียวกันนั่นเอง ทำให้ผู้คนยอมรับความหลากลายของความแตกต่างได้มากขึ้นด้วย หากแต่การเปลี่ยนแปลงได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่ซุกซ่อนอยู่ การที่คนยอมรับความแตกต่างในแง่ของชาติพันธุ์ เพศภาพ ความเชื่อ และวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อความหลากหลายถูกทำให้กลายเป็นความเหมือน แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของความเหมือนที่เกิดจากผู้มีอำนาจ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นมีลักษณะที่คล้ายกันจากวัตถุที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศมหาอำนาจ เทคโนโลยีมากมายเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนในเรื่องนี้ เช่น โทรศัพท์มือถือ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งคือการอยู่ใต้อำนาจโดยจำยอมนั่นเอง

วิธีการนำเสนอผลงานของศิลปินมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อผู้ชมเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับผลงาน ด้วยข้อกำหนดของวิธีในการมองผลงานผ่าน VR Viewer ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจถึงสิ่งที่ศิลปินต้องการจะนำเสนอได้ อีกทั้งตัวผลงานยังเป็นการนำเสนอประเด็นที่เป็นปลายเปิด ผู้ชมสามารถตีความผลงานได้ตามประสบการณ์
และวิธีนำเทคโนโลยีมาเป็นหนึ่งในสื่อการนำเสนอผลงานได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ที่ช่วยกระตุ้นผู้ชมให้เห็นถึงพัฒนาการของการสร้างงานศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดอ่านของคนในปัจจุบันอีกด้วย
Comments