"ความผูกพันที่ถูกพันผูก"
- ภัทราวดี ศรีบุญช่วย
- Nov 24, 2017
- 1 min read

เมื่อเรามีความผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยความรัก ความเมตตา หรือการเห็นอกเห็นใจ
ก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเป็นเสมือนห่วงที่คอยผูกมัดเราไม่ให้เราสามารถไปไหนได้ บ้างก็เชื่อว่าความรักสามารถรักษาเยียวยาสิ่งที่ขาดหรือช่วยเติมพลังให้กัน แต่ความรักสำหรับบางคนคือการผูกมัดหรือทำทุกสิ่งให้ได้มาเพื่อสิ่งที่ตนต้องการ เสมือนกับการที่เรามีสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้าน แต่ละวันเราให้ความรักหรือเลี้ยงดูอย่างดี แต่ท้ายสุดเราก็ต้องเอาสัตว์ของเราใส่ในกรงเพื่อป้องกันทั้งชีวิตมันและตัวเรา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้เห็นได้ชัดว่าบางชีวิตไม่สามารถที่จะเรียกร้องได้ว่า ตนอยากได้อิสระในการใช้ชีวิตหรือเรียกร้องในสิ่งที่ตนต้องการ สิ่งนี้เป็นเครื่องพันธนาการของความรัก ความคาดหวังที่มนุษย์ต้องการพร้อมได้สร้างการพันผูกต่อกัน

ดั่งผลงานของศิลปิน สุภาวดี สงครามศรี ในชุด
“ร่องรอยที่พันผูก” ที่กำลังจัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการชั้น 2
หอศิลป์บรมราชกุมารี ศูนย์ปฏิบัติการทัศนศิลป์สิรินธร
คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ผ่านเทคนิคการสร้างสรรค์
สีน้ำมันฝีแปรงที่สร้างความฉับพลัน และมีความเป็นอัตลักษณ์
ได้นำเสนอถึงความเป็นเพศหญิงที่มักถูกกระทำ จากความเชื่อ
ที่ว่าเพศชายเป็นเพศที่แข็งแกร่ง หรือเหมาะกับการเป็นผู้นำ
ส่วนเพศหญิงนั้นอ่อนแอ หรือเป็นผู้ตามเสียมากกว่า
ความคิดนี้ยังคงปรากฏอยู่ในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด
การทำร้ายร่างกายกันจนเป็นเรื่องปกติ แม้หลายสิ่งในสังคม
ได้ถูกพัฒนาแล้ว แต่เรื่องความรุนแรงทางเพศ หรือการใช้กำลัง
ยังไม่มีการพัฒนา หรือแก้ปัญหาให้ทุเลาลงได้
ความผูกพันของเพศชายและเพศหญิงนั้นเริ่มต้นด้วยความสวยงาม แต่เมื่อใดที่เกิดความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง ความสวยงามกลับเปลี่ยนเป็นความเจ็บช้ำ เกิดความรุนแรง และร่องรอยที่ปรากฏทั้งกาย และใจ(ภาพที่1) ฝีแปรงที่สะท้อนถึงความรุนแรง และความเจ็บปวดของผู้หญิง ภาพที่ปรากฏ
สีที่ขุ่นมัวเสมือนเป็นภาพของผู้หญิงที่หมดลมหายใจไปแล้ว แต่ยังคงเห็นถึงร่องรอยการถูกกระทำ โดยร่างกายที่บิดเบี้ยว และรอยช้ำต่าง ๆ ร่องรอยเหล่านี้จะถูกพันผูกอยู่ (ภาพที่2) เสมือนกับเส้นด้ายที่ค่อย ๆ ร้อยเรียงปักเข้าเฟรมทีละเส้น ได้ถูกผูกติดอยู่กับผนังของผ้าใบ และเรียงตัวกันอย่างสวยงามในกรอบสีขาว สิ่งนี้อาจเป็นเพียงแค่ความสวยงามภายนอกที่เราไม่สามารถสัมผัสได้เลยว่า แท้จริงแล้วความสวยงามเหล่านี้ต้องซ่อนความเจ็บปวดไว้มากน้อยเพียงใด

(ภาพที่3) ผลงานชิ้นถัดมาจะเห็นได้ว่า ผ้าใบที่ถูกแขวนไว้แต่ละชิ้น บางชิ้นด้านหน้าเราจะเห็นว่ามีการเย็บเรียงเส้นอย่างสวยงาม แต่ใครจะรู้ได้ว่าด้านหลังผ้าใบนั้นเส้นด้ายยุ่งเหยิง หรือมีร่องรอยถูกตัดแล้วถูกผูกใหม่มากน้อยเพียงใด เปรียบกับเส้นด้ายที่ถูกถักอย่างสวยงาม แต่เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้น เข็มที่ใช้ถักบนผืนผ้าอย่างสวยงามในตอนแรก เปลี่ยนเป็นการทิ่มแทง และการทำร้ายให้เกิดความเสียหาย เส้นด้ายที่หลุดลุ่ย เสมือนเพศหญิงที่ถูกกระทำ ความผูกพันต่อกันกลายเป็นความเจ็บปวด และสร้างแผลทั้งกาย และใจ ด้ายและผ้าถูกพันผูกกับอารมณ์ที่ศิลปินถ่ายทอดบนชิ้นงานแต่ละชิ้น พร้อมทั้งมีการลงสีเพื่อให้เกิดรูปทรงที่เด่นชัด บางชิ้นงานเสมือนเป็นรูปร่างผู้ชาย อาจสื่อได้ว่าทั้งเพศหญิงและเพศชายเป็นสิ่งที่คู่กัน หากเรามีความเมตตาและให้เกียรติต่อกัน ปัญหาความรุนแรงต่อเพศหญิงในสังคมอาจลดน้อยลงได้
Comentarios