ห้วงความรู้สึก
- พริมา จันทร์ดากรณ์
- Nov 24, 2017
- 1 min read

“ประวัติศาสตร์” เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต กล่าวคือ สังคมมนุษย์ในปัจจุบันล้วนเป็นผลมาจากการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีต และอาจส่งผลกระทบถึงอนาคต เป็นเหมือนการบันทึกเหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ที่มาจากพฤติกรรมมนุษย์ มนุษย์จึงมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์อย่างแน่นแฟ้น จนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ถึงแม้เรื่องราวในอดีตจะผ่านพ้น แต่ยังคงทิ้งบางสิ่งบางอย่าง หรือทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นในปัจจุบัน สิ่งนั้นล้วนมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ที่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดความรู้สึกทางอารมณ์ และแรงบันดาลใจต่อ ศิลปินหญิง ณิชนันทน์ แสงเงิน ในการสร้างสรรค์ผลงานชุด “Space-time physics”ที่ประกอบไปด้วยงานจิตรกรรมแนวสำแดงอารมณ์(expression) 3 ชิ้น คือ "เรือน หวี หทัย" "กระจกแปดเหลี่ยม" และ"กลิ่นไม้จันทร์" ผลงานจิตรกรรมทั้ง 3 ชิ้น ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นจากเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาในขณะนั้นที่ศิลปินได้นำมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งบทกวีที่ศิลปินสนใจ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างความเป็นอดีตของประวัติศาสตร์กับปัจจุบันของความรู้สึก
“เรือน หวี หทัย” (ภาพที่1) ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันขนาด 240x160 ซม. ศิลปินได้นำความรู้สึกที่ได้ซึมซับกับสถานที่ในประวัติศาสตร์คือ พระราชวังสนามจันทร์ (พระที่นั่งพิมานปฐม) ก่อเกิดเป็นความรู้สึกถึงกลิ่นอายของความทรงจำในอดีต ความเพ้อฝัน เสมือนวิมานในจินตนาการที่ปรากฏขึ้นในโลกความเป็นจริง ศิลปินได้นำความประทับใจนั้นมาเชื่อมโยงกับความรู้สึก โดยแสดงออกผ่านสัญลักษณ์หุ่นนิ่งที่ดูเหมือนเป็นตัวละครหลายบทบาท เตียงสีแดงที่เป็นจุดเด่นภายในงาน มาจากแรงบันดาลใจจากเก้าอี้สีแดงในห้องบรรทมที่ศิลปินนำมาเชื่อมโยงกับเก้าอี้ภายในห้องนอนของเธอที่ถูกคลายรูปทรงให้ยืดยาวเสมือนเป็นเตียงนอน รองเท้าส้นสูงที่เตียงนั้นสวมใส่มีเพียงข้างเดียว ซึ่งผิดกับความสามัญที่รองเท้าต้องอยู่เป็นคู่ ทำให้รู้สึกถึงความโดดเดี่ยวแต่ยังคงอยู่ได้ หวีสีทองและเส้นผม ที่ทำท่านั่งมองย้อนไปที่ประตูราวกับรอคอยบางสิ่งบางอย่างเป็นสัญลักษณ์ที่ศิลปินนำมาเป็นตัวแทนของเธอ ชุดชาเป็นเสมือนตัวแทนของความเป็นตะวันตกที่แทรกอยู่ในสถาปัตยกรรมของสถานที่นั้น สัญลักษณ์หุ่นนิ่งที่ปรากฏภายในงาน เป็นภาพแทนของความปัจจุบันที่มีอยู่จริง เสมือนเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างความเป็นปัจจุบันและอดีต ดั่งชื่อผลงาน เรือน หวี หทัย ที่นำความรู้สึกต่อเรือนมาเชื่อมโยงกับตัวเอง โดยสื่อออกมาผ่าน
จิตใจ


"กระจกแปดเหลี่ยม" (ภาพที่2) ผลงานจิตรกรรมเทคนิคลงรักปิดทอง ขนาด 30x30 ซม. ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานโศกนาฏกรรมความรักของเจ้าชายล้านนากับหญิงพม่า “มะเมี๊ยะ” ที่ก่อให้เกิดความสงสารและซาบซึ้ง ศิลปินจึงนำความรู้สึกต่อเรื่องราวนั้นมานำเสนอผ่านมุมมองทัศนะของเธอ ภาพผลงานมาจากความรู้สึกที่ศิลปินได้คิดฝันต่อในเรื่องราวของมะเมี๊ยะ รูปกระจกภายในงาน เป็นเหมือนภาพสะท้อนเรื่องราวตำนานความรักที่มั่นคงเหมือนดั่งทัศนะของศิลปินในชีวิตจริง ศิลปินยังคงใช้หวีเป็นการแทนภาพตนเองที่แอบซ่อนอยู่ข้าง ๆ มะเมี๊ยะ เสมือนกับเป็นผู้ติดตามในเรื่องราวนำพาตนเองไปยังตำนานรักนั้น ดอกกุหลาบไร้หนามดอกเล็กๆ บนผืนดิน เป็นสัญลักษณ์แทนความรักที่ไม่เจ็บปวดเป็นเหมือนสิ่งอวยพรที่ศิลปินตั้งใจจะมอบให้แก่เขา
ทั้งคู่ กรอบกระจกแปดเหลี่ยมเป็นสิ่งแสดงความรักของทั้งคู่ ที่มาจากสัญลักษณ์ของความเป็นอนันต์ (infinity∞) ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

“กลิ่นไม้จันทร์” ผลงานจิตรกรรม เทคนิคลงรักปิดทอง(ภาพที่3) ขนาด 24x30 ซม. ศิลปินยังคงทำงานเกี่ยวกับเรื่องราวของอดีต แต่ความเป็นอดีตในชิ้นนี้ เป็นอดีตที่มีความเป็นส่วนตัว คือ “ความฝัน” ศิลปินได้นำความฝันมาประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องใหม่ โดยเนื้อเรื่องได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย “ศิลามณี” ซึ่งเป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงแสนฝาง ที่ออกตามหาศิลามณีเป็นอัญมณีสีเขียวมรกต เจ้าหญิงตามหาอยู่ครึ่งชีวิต แต่แล้ววันที่หยุดตามหาเพื่ออยู่กับความเป็นจริง แล้วมองตัวเองในกระจกก็ได้พบว่าศิลามณีที่ตามหานั้นอยู่ที่สร้อยคอตลอดมา
ศิลปินแสดงออกผ่านทางสัญลักษณ์และลายเส้นอันมีเอกลักษณ์ดังเช่นผลงานอื่น ๆ
รูปเจ้าหญิงแสนฝางที่ลดทอนเหลือแค่ผมไม่มีหน้า ทำให้กระตุ้นความรู้สึกและจินตนาการของผู้ชม
กล่องเครื่องประดับกำมะหยี่สีแดงรูปหัวใจตรงกลางภาพที่มีสร้อยคอและอัญมณีสีเขียวเป็นเหมือนดั่งภาพแทนความรักที่หลาย ๆ คนพยายามไขว่คว้าตามหา และวันหนึ่งความรักนั้นได้ปรากฏขึ้นโดยไม่รู้ตัวราวกับ
เป็นพรหมลิขิต
Comments