top of page
Search

เก้าอี้พลาสติก

  • ภานุพงศ์ จิตรทศ
  • Nov 24, 2017
  • 1 min read




วัตถุ (object) บางสิ่งอาจสื่อความหมายเป็นเชิงสัญญะ และเป็นการสื่อสารเฉพาะที่ผู้รับสารจำเป็นต้องมีประสบการณ์ร่วม จึงสามารถรับสารได้อย่างเข้าใจ เพราะมีปัจจัยทางวัฒนธรรมและบริบทของสภาพสังคมที่ส่งอิทธิพลต่อวัตถุชิ้นนั้น วิลเบอร์ ชแรมป์ (Wilbur Schramm) นักทฤษฎีทางการสื่อสาร อธิบายเกี่ยวกับการสื่อสารแบบประสบการณ์ร่วมไว้ว่า ผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างฝ่ายต่างมีประสบการณ์ในเรื่อง ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ

ค่านิยม และทัศนคติเป็นของตนเอง สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเลือกส่ง เลือกรับ และการตีความหมาย ขอบเขตหรือสนามประสบการณ์นี้จะมีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของการสื่อสารกล่าวคือ หากผู้ส่งสารและผู้รับสารมีสนามประสบการณ์ร่วมกัน (Common Field of Experience) การสื่อความหมายก็จะง่ายขึ้น ความเข้าใจตรงกันจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นวัตถุใดวัตถุหนึ่ง จึงมีความหมายในระดับสัญญะต่อพื้นที่เฉพาะ จนทำให้ความหมายของวัตถุชิ้นนั้นแตกต่างจากความหมายทั่วไป และแปรเปลี่ยนเป็นวัตถุที่ให้ความหมายเชิงสัญญะในที่สุด


วัตถุที่มีความหมายเฉพาะในพื้นที่นั้น ๆ เสมือนตัวแทนบอกเล่าเรื่องราว สภาพความเป็นอยู่และอื่น ๆ

อีกมากมาย ที่ผู้คนในพื้นที่นั้นจะนิยามว่าหมายถึงอะไรและเป็นตัวแทนของอะไร

หรืออาจเป็นดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิสัยทัศน์ของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนั้น ๆ

สำหรับศิลปินอย่าง แทนพงศ์ เจริญพร ที่สนใจสภาพการเมืองและสังคม จึงหยิบยก ‘เก้าอี้พลาสติก’

ที่วางอยู่เรียงรายให้เห็นตามร้านอาหารริมถนน (Street food) และพบเห็นได้มากมายตามบ้านเรือนของประชาชนชั้นกลางในประเทศ แทนพงศ์จึงสร้างตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ผ่านศิลปะภาพพิมพ์ที่บอกเล่าเรื่องราว

และสภาพความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสังคม


ผลงานเก้าอี้พลาสติกเทคนิคภาพพิมพ์ทั้ง 2 ชิ้นนั้น ได้ใช้สีน้ำเงินและสีแดง (ภาพที่1 2) โดยไม่แฝงความหมายเชิงสัญญะของสีแต่อย่างใด ศิลปินใช้สีตามวัตถุจริงอย่างตรงไปตรงมา และได้สร้างความชัดเจนตามความจริงมากยิ่งขึ้น เมื่อผลงานทั้ง 2 ชิ้นไม่มีชื่อผลงาน มีเพียงภาพเก้าอี้พลาสติก อันเป็นตัวแทนทางภาษาภาพได้เป็นอย่างดี ราวกับว่าศิลปินต้องการใช้ภาษาภาพ เพื่อเน้นถึงสัญญะบางอย่างที่ซุกซ่อนไว้ให้สามารถตีความต่อไป

ในผลงานทั้งสองมีภาพเก้าอี้พลาสติกสีแดงและสีน้ำเงินอย่างละตัว มีพื้นหลังสีดำ ภาพจึงมีประธานหรือจุดเด่นชัดเจนขึ้น ทำให้การวิเคราะห์ผลงานมุ่งไปที่เก้าอี้พลาสติกตัวเดียว

รูปทรงของเก้าอี้พลาสติกดูเหมือนผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ให้ดูบิดเบี้ยวและงอ จึงทำให้ลักษณะทางกายภาพของเก้าอี้พลาสติกส่งแรงปะทะสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม อย่างไรก็ตามหากใช้ทฤษฎีภาพถ่ายเรื่อง ‘มุมมองแบบบุคคลเดียว’ หรือการเน้นไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น หมายความว่า ภาพทั้งหมดจะให้ความรู้สึกคล้อยไปตามอารมณ์ของแบบอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการถ่วงดุลจุดเด่นจากวัตถุที่อยู่เคียงข้าง อารมณ์ทั้งหมดของภาพจึงออกมาจากเก้าอี้พลาสติกได้อย่างเต็มอรรถรส อย่างไรก็ดีหากเก้าอี้พลาสติกทั้งสีแดงและสีน้ำเงิน มีความหมายเชิงตัวแทนทางสภาพสังคมอย่างที่ศิลปินได้วางแนวความคิดไว้นั้น เก้าอี้พลาสติกอาจสะท้อนภาวะทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากลักษณะทางกายภาพของรูปทรง ที่แสดงให้เห็นถึง ‘แรงกดหรือแรงกระทำ’ บางอย่างที่ปรับเปลี่ยนรูปทรงของเก้าอี้ออกไปอย่างสิ้นเชิง แรงกระทำนั้นคืออะไร ศิลปินไม่ได้บอกกล่าวให้ทราบ แต่เราสามารถตีความได้จากเก้าอี้พลาสติกที่อยู่ในภาพเพียงอย่างเดียว



ในประเทศไทยพบว่าเก้าอี้พลาสติกส่วนใหญ่ ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการทางอุตสาหกรรมและมีราคาถูก

หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด มีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน และสามารถนำมาวางซ้อนกันได้คราวละหลาย ๆ ตัว

จึงเป็นที่นิยมของพ่อค้าแม่ขายหาบเร่แผงลอยตามท้องถนนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร

รวมถึงผู้คนชนชั้นกลางเพราะสามารถจัดเก็บได้ง่ายและรวดเร็ว เหมาะสมกับภาวะในสังคมเมืองที่นิยม

ความรวดเร็ว ในการดำรงตนให้อยู่รอดได้ในเมืองใหญ่ หรือที่เรียกตามภาษาปากว่า "หาเช้ากินค่ำ"

ซึ่งเป็นคำที่ฟังแล้วสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่ทำงานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อนและมีรายได้น้อย

กระนั้นสถานะในปัจจุบันของพวกเขาอาจไม่ได้มีความสุขเสมอไป เพราะต้องดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก

ตามสภาวะขึ้นๆ ลงๆ ของเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจขึ้นผู้คนชนชั้นแรงงาน

หรือผู้มีรายได้น้อย ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาวะเหล่านี้ คือ ‘แรงกระทำ’ ที่ทำให้เก้าอี้พลาสติกของแทนพงษ์ ดูบิดเบี้ยวจนผิดแปลกไปจากเดิม ศิลปินจึงได้หยิบยกความเป็นไปเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจ

ในการเลือกใช้เก้าอี้พลาสติกมาเป็นตัวแทนบอกเล่าภาวะทางสังคมในมิติของ ‘ผู้มีรายได้น้อย’ สาเหตุในการมีอยู่ของเก้าอี้พลาสติก จึงมีปัจจัยที่สัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองร่วมอยู่ในนั้นด้วย

นอกจากเก้าอี้พลาสติกแล้วผลผลิตทางอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ยังเป็นดัชนีชี้วัดสภาพความเป็นอยู่และวิสัยทัศน์ของสังคมนั้น ๆ อีกด้วย เก้าอี้พลาสติกแต่ละตัว หรือผลผลิตทางอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ที่ผลิตออกจากโรงงาน อาจเปรียบเสมือนผู้คนที่มีรายได้น้อยหรือชนชั้นแรงงาน ยิ่งพบเห็นวัตถุเหล่านั้นมากขึ้นเท่าไร

ก็บ่งบอกได้ถึงสถานะคนในสังคมมากขึ้นเท่านั้น พวกเขาทำงานหนักเต็มเวลา แต่กลับมีสถานะการเงินเพียงแค่สามารถซื้อวัตถุสิ่งของที่ตัวเองผลิตได้เท่านั้น

 
 
 

Comments


Art criticism

bottom of page