top of page
Search

Woman's (for) Society.

  • เมธาวี เทศนะ
  • Nov 24, 2017
  • 1 min read






ความหมายของชีวิตเป็นคำถามปรัชญาว่าด้วยความสำคัญของชีวิต หรือการดำรงอยู่ โดยทั่วไปคำถามนี้สามารถแสดงได้หลายรูปแบบ เช่น

"ทำไมเราจึงอยู่ที่นี่" "ชีวิตเกี่ยวกับอะไรกันแน่"

และ "อะไรคือจุดประสงค์ของการดำรงอยู่"

ซึ่งแต่ละบุคคลก็จะมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป






หลายคนพยายามแสวงหาคุณค่าของชีวิต ตลอดระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่ การพัฒนาตนเองเพื่อสร้างเสริมคุณค่าของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในสังคม มีอำนาจเหนือผู้อื่น หรือแม้แต่การประสบความสำเร็จในชีวิต ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในความต้องการของมนุษย์ การสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้ดูดีมีความน่าสนใจ เพื่อให้คนอื่นมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการให้ความหมายของชีวิต โดยผ่านมุมมองของบุคคลอื่นที่มีต่อภาพลักษณ์ภายนอกของตนเอง มากกว่าการหาคุณค่าในตนเอง ที่มีเพียงน้อยคนนักที่จะมองเห็น

เช่นเดียวกันกับผลงานศิลปะในนิทรรศการ Human Reflection ในชุด Women No.1

โดยนางสาวสรารัตน์ ฐาปนะกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 5ภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่กล่าวถึงประเด็นค่านิยมของผู้หญิงในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยสะท้อนมุมมองและทัศนคติของศิลปินถ่ายทอดสู่ผลงานได้อย่างน่าสนใจ ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในช่วงยุค70 และ 80 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง “Mona lisa smile” ผสมกับความสนใจในเรื่องเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายของผู้หญิง จึงเกิดเป็นผลงานศิลปะชุดนี้ขึ้น


ด้วยความที่สหรัฐอเมริกาผลัดเปลี่ยนยุคสมัยอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ.1970-80มีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ส่งผลต่อสังคมยุคปัจจุบัน เนื่องจากในยุคนี้เป็นการเริ่มยุคใหม่ของเสรีภาพระบอบสังคมแบบใหม่ นับตั้งแต่การคำนึงถึงสันติภาพ การรวมตัวต่อต้านสงครามเวียดนาม รวมทั้งเป็นยุคของการ

พัฒนาเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และระบอบทุนนิยมอย่างเต็มตัว สื่อต่าง ๆ จึงมีบทบาทอย่างมาก

ต่อประชาชนในยุคสมัยดังกล่าว ซึ่งแนวคิดเช่นนี้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในช่วงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของภาพลักษณ์ภายนอกของมนุษย์ ซึ่งมีแนวคิดที่สืบต่อกันมา หลังจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการพัฒนาตนเองในรูปแบบของเปลือกนอก

การแต่งกาย การศึกษา การประกอบอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้มากเป็นสิ่งที่คนส่วนมากนิยมนำมาตั้งเป็นเป้าหมายในชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในการหาคำตอบของความหมายในชีวิต เห็นได้ชัดเจนจากภาพยนตร์เรื่อง “Mona Lisa Smile” ที่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของศิลปิน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพสะท้อนของสังคมตะวันตก (ทั้งยุโรป และอเมริกา)ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

(ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ ยังคงถูกครอบงำจากปรัชญาดั้งเดิมในสมัยกรีกมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ จนกระทั่งยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องราวของ ‘ความดี’ ‘ ความงาม’ ‘ความสมบูรณ์’ รวมไปถึงเรื่องของ ‘ศิลปะ’

ตลอดจนวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อมั่นว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดี

ที่ถูกต้องนั้นมีเพียงมาตรฐานเดียว และเป็น ‘มาตรฐานสากล’ แบบเดียวกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเป็นเช่นเดียวกับศิลปะซึ่งมีความสมบูรณ์แบบที่สุด



แรงบันดาลใจที่สำคัญของศิลปินที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำเสนอผลงานศิลปะที่มีความเป็นสากล และสะท้อนวิถีชีวิต แนวคิดของศิลปินที่มีต่อการปฏิบัติตนของมนุษย์ในอดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ โดยศิลปินได้นำเอาภาพของป้ายโปสเตอร์ แผนป้ายโฆษณาชวนเชื่อ และภาพบุคคลในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 ของไทย มาตัดต่อ ลดทอน และสร้างสรรค์ใหม่ จนเกิดเป็นผลงานศิลปะชุด “Woman No.1” ซึ่งผลงานชุดนี้มีการนำเสนอที่หลากหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ ผลงานรูปภาพตัดต่อขนาด 30x40 เซนติเมตร ผืนผ้าที่สกรีนลวดลายขนาด 100x100 เซนติเมตร และชุดสูทขนาดใหญ่พิเศษที่ออกแบบ และตัดเย็บโดยศิลปินเอง รวบรวมและติดตั้งเป็นศิลปะจัดวางชุดนี้ สะท้อนแง่มุมของสตรีในแต่ละยุคสมัย ที่เปลี่ยนแปลงตนเองไปตามกระแสสังคม หรือที่เรียกกันว่า “แฟชั่น” การสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องประดับให้ตนเองดูดี สวยงาม โดดเด่น เสมือนว่าจะเป็นสิ่งที่นิยมของเหล่าสตรีในแต่ละยุคสมัย เพื่อเป็นการนำเสนอตนเอง ทำให้มีภาพลักษณ์ที่สวยงามน่ามอง ซึ่งนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับในสังคม นอกจากนี้ผลงานของศิลปินมีการตัดต่อภาพของบุคคลสำคัญในช่วงรัชกาลที่ 5 และถูกสร้างสรรค์ใหม่โดยการตัดต่อภาพของสิ่งแทนความเป็นผู้หญิง อย่างเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายสตรี ดอกไม้ และอื่นๆมากมาย รวมทั้งการหยิบยกข้อความจากโปสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับสตรีมาใช้ในผลงาน



ในส่วนของชุดสูทที่ศิลปินนำเสนอผ่านข้อความจากโปสเตอร์ที่เป็นแรงบันดาลใจ

และรูปภาพที่ผ่านกระบวนการเดียวกันกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ถูกสกรีนลงสู่ผืนผ้า และตัดเย็บเป็นเสื้อสูทสตรีที่มีขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งถ้าเปรียบชุดสูทสตรีแทนสังคมในแต่ละช่วงสมัยนั้น ผลงานชุดนี้จะสะท้อนการมีตัวตนในสภาพสังคมได้อย่างชัดเจน การสวมใส่ชุดที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ

เสมือนการปกปิดความเป็นตัวตนของบุคคลนั้น เพื่อยอมรับค่านิยมดังกล่าวเข้ามาเสริมแต่งตนเอง และยังสะท้อนค่านิยมของสังคมมากกว่าการแสดงตัวตนของตนเอง และถึงแม้การสวมใส่ชุดสูทจะแสดงออกถึงภาพลักษณ์และค่านิยมสากลให้กับผู้นั้นได้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้บุคคลผู้นั้นมีคุณค่ามากขึ้นได้ ซึ่งทุก ๆ อย่างก็ยังคงสะท้อนผ่านการกระทำและคำพูดได้มากกว่าเครื่องแต่งกายภายนอก ในส่วนของดอกลิลลี่สีขาวที่ผูกโบว์สีดำ ถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณด้านข้างชุดสูท

โดยดอกลิลลี่ที่ให้ความรู้สึกถึงความรักที่บริสุทธิ์ของผู้หญิง แต่มีการผูกด้วยโบว์สีดำซึ่งแสดงถึงการไว้อาลัย หรือกล่าวถึงความรักของสตรีที่ไม่สมบูรณ์ ไม่บริสุทธิ์ เสมือนภาพสะท้อนของผู้หญิงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 ในภาพยนตร์เรื่อง “Mona Lisa Smile” ที่เป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจแก่ศิลปิน รวมไปถึงการรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ โดยผ่านชุดสูทดังกล่าว

นอกจากนี้ผลงานยังมีภาพของสตรีสำคัญในช่วงรัชกาลที่ 5-6 โดยผลงานภาพบุคคลนั้น นอกจากจะแสดงถึงการผสมผสานวัฒนธรรมต่างชาติเข้ากับวัฒนธรรมไทยอย่างน่าสนใจ ยังแสดงถึงการพัฒนาและการมีบทบาทของสตรีในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 5-6 นั้น

ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคม เช่น ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ ริเริ่มก่อตั้งสภาอุณาโลมแดง หรือสภากาชาดโดยมีสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เป็นองค์สภานายิกา

และต่อมาสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงรับเป็นองค์สภานายิกา สภากาชาดไทยมีบทบาทสำคัญมากในยุคสงครามโลกทั้งต่อคนไทย และทหารนานาชาติ



การเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงไปตามยุคสมัยของสังคมนั้น เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้หญิงจะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดูดีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในสังคมนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้กลมกลืน หรือรับเอาค่านิยมสากลเพียงอย่างเดียว แต่นั่นอาจเป็นการก้าวผ่านสิ่งเดิม ๆ ในอดีต เพื่อรับเอาสิ่งใหม่ในปัจจุบันมาแสดงออกผ่านภาพลักษณ์ก็เป็นได้ กล่าวคือ แท้จริงแล้วผู้หญิงอาจไม่ได้แต่งตัว เพื่อให้เป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม หรือสังคม แต่เป็นการแสดงถึงความกล้าของผู้หญิงที่จะรับเอาสิ่งใหม่มาแสดงออกผ่านภาพลักษณ์ที่เป็นสากล หรือปกปิดตัวตนเพื่อป้องกันตนเองก็เป็นได้ ภาพลักษณ์ดังกล่าวที่สังคมนิยมกันนั้น อาจเป็นเพียงค่านิยมส่วนกลางของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่การหาคุณค่า หาความหมายของชีวิตผู้คนส่วนมาก เป็นหนึ่งในปัจจัยที่แสวงหาคำตอบของชีวิต โดยไม่มีใครบอกได้ว่า คุณค่าของชีวิตใครเป็นอย่างไร แต่ขึ้นอยู่ที่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะพิจารณาคุณค่า ชื่นชม หรือแม้แต่ดูถูกตัวเราเองได้ การมีชีวิตอยู่ถือเป็นการเรียนรู้ไปตามวันเวลา วัยที่เปลี่ยนแปลง ช่วงชีวิต และประสบการณ์ จะทำให้เราพร้อมที่จะอยู่ และก้าวต่อไปในอนาคตตลอดจนการหา “ความหมายของชีวิต” ซึ่งเป็นคำถามที่คนจำนวนมากถามตนเองในขณะหนึ่งของชีวิต โดยมนุษย์เรามักให้ความสำคัญกับสิ่งที่มองเห็นมากกว่าสิ่งที่มองไม่เห็น อย่างภาพลักษณ์ภายนอก และคุณค่าภายในตนเอง หรือคุณค่าของมนุษย์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินของสังคม หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่กับเราทุกวัน ทุกเวลา และมีเพียงเราเท่านั้นที่รับรู้ได้ สิ่ง ๆ นั้นก็คือตัวตนของเราเองที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดและคือคำตอบของชีวิตเราเอง



 
 
 

Commenti


Art criticism

bottom of page